วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

พฤติกรรมร่วม (Collective Behavior) 1) ความหมาย
พฤติกรรมร่วม คือ พฤติกรรมของกลุ่ม (Groups) “ซึ่งมีลักษณะทั่ว ๆ ไป คือ ไม่มีแบบแห่งพฤติกรรมสำหรับกลุ่ม เมื่อมีปัญหายุ่งยากเกิดขึ้น ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร และมีการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติและคุณธรรมได้”

พฤติกรรมร่วมเกิดจากการแพร่ระบาดทางอารมณ์ (Emotional contagion) ในสังคม ซึ่งก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางจิตใจ แสดงพฤติกรรมออกเพื่อระบายความกดดันภายในออกมา พฤติกรรมที่แสดงออกมานี้เป็นพฤติกรรมที่ยังไม่ลงตัวเป็นแบบแผน หรือสังคมขณะนั้น มีโครงสร้างที่ไม่แน่นอน (Unstructured behavior)

การแพร่ระบาดทางอารมณ์ หมายถึง ความรู้สึกตื่นเต้นและการกระตุ้นซึ่งกันและกันมีระดับความรุนแรงจนมีอิทธิพลแพร่ระบาดออกไปสู่วงกว้าง
2) องค์ประกอบของการแพร่ระบาดทางอารมณ์ (Elements of Emotional Contagion) มีอยู่ 3 ลักษณะดังนี้ 1. จิตอยู่ในสภาพที่ถูกชัดจูงได้ง่าย (Heightened Suggestibility) เนื่องจากในขณะนี้ สภาพของโครงสร้างไม่แน่นอน บุคคลจะมองตัวอย่างจากผู้อื่น และเนื่องจากอารมณ์ของเขานั้นเครียดอยู่แล้ว เขาก็พร้อมที่จะทำตามคนอื่นที่ทำเป็นตัวอย่างทันที โดยไม่คำนึงว่าการกระทำนั้นเป็นผลดีหรือผลร้ายตามา เช่น กรณีไฟไหม้ที่โรงแรม อิมพีเรียล ในกรุงเทพมหานคร ผู้พักในโรงแรมกระโดดจากตึกที่สูงมากได้รับบาดเจ็บหลายคนและถึงแก่ชีวิตก็มี

2. จิตอยู่ในสภาพถูกกระตุ้นได้ง่าย (Heightened Stimulation) ปัจเจกบุคคลแต่ละคนจะมีบุคลิกภาพเฉพาะของตน หลายคนมีจิตใจที่เข้มแข็ง เชื่อมั่นในตนเอง ในขณะที่บุคคลอีกจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะถูกกระตุ้นให้เปลี่ยนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างง่ายดาย บุคคลประเภทหลังนี้เอง เมื่อตกอยู่ในสภาพแวดล้อมของกลุ่มที่มีอาการตื่นเต้นและมีการกระทำที่รุนแรงมากระทบใจ ท่ามกลางผู้คนที่อยู่กันอย่างใกล้ชิด (ซึ่งทำให้มองเห็นอากัปกิริยาที่แสดงออกมา เช่น ลมหายใจ กล้ามเนื้อที่ตึงเครียด เหงื่อออก) การกระตุ้นจะเป็นไปในรูป การติดต่อตอบสนองเป็นวงกลม ดังนี้


ก กระตุ้น ข ทำให้เกิดความกลัวใน ข ความกลัวของ ข กระตุ้นให้ ค กลัว
และมีผลสะท้อนกลับไปที่ ก ให้กลัวยิ่งขึ้นอีก

3. มีประสบการณ์เดียวกัน (Homogeneity of Experience) การแพร่ระบาดทางอารมณ์จะเกิดเฉพาะในหมู่บุคคลซึ่งมีความโน้มเอียงและมีเบี้ยงหลังความเป็นมาเหมือนกัน ในกรณีนักเรียนบางกลุ่มยกพวกตีกัน หรือคนงานก่อความวุ่นวาย เป็นต้น ทั้งสองกรณีนี้ ขณะที่นักเรียนวิวาทกัน คนงานหรืออีกหลายกลุ่มรับรู้แต่ไม่ถึงขั้นดึงดูดให้เข้าไปร่วมในเหตุการณ์นั้นด้วย


ขั้นตอนการเกิดพฤติกรรมรวมหมู่เป็น 6 ขั้น
1. โครงสร้างสังคมที่เอื้อ Structural conduciveness
2. ความเครียดอันเกิดจากโครงสร้างสังคม Structural strain
3. การแพร่กระจายความเชื่อ Generalized belief
4. ปัจจัยกระตุ้น Precipitating factors
5. การมีพฤติกรรมรวมหมู่ของฝูงชน Mobilization for action
6. การเข้าควบคุมขององค์กรต่าง ๆ ภายในสังคม Operation of social control